พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอ่านอะไร ?

Last updated: 15 ก.ย. 2564  |  1543 จำนวนผู้เข้าชม  | 

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอ่านอะไร ?

         พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใส่พระทัยในการอ่านเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเห็นได้จากหนังสือส่วนพระองค์จำนวนมาก ที่มีหมวดหมู่ที่หลากหลายครอบคลุมหัวข้อเรื่องโดยกว้างทั้งบริบทสังคม ประวัติศาสตร์ ปรัชญา รัฐศาสตร์ เศรษฐกิจ เกษตร การต่างประเทศ การแพทย์ ศิลปะ และวรรณกรรม เป็นต้น เป็นหนังสือมีหลายภาษาทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาฝรั่งเศส อีกด้วย แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพ และพระวิริยะในการเรียนรู้ศาสตร์แขนงต่างๆ อยู่เสมอ

          ทรงสนพระทัยการอ่านหนังสือมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ขณะทรงศึกษาที่วิทยาลัยอีตัน ประเทศอังกฤษ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2451 วิชาที่ทรงเรียน ได้แก่ ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส ละติน คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ วรรณคดี ดนตรี ฯลฯ ทรงมีผลการศึกษา
เป็นที่น่าพอใจ เพราะทรงพระปรีชาสามารถ อุตสาหะพยายาม ใฝ่พระทัยด้านศิลปะ ดนตรี กีฬา และวรรณคดี โปรดวิชาประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ทรงลำบากกับภาษาละติน แต่ก็
ทรงมีความก้าวหน้าเร็วจากพระวิริยะพระองค์ทรงเคยได้รับหนังสือเรื่อง Eton เป็นรางวัล
ในการเรียนวิชาฟิสิกส์ เมื่อ พ.ศ. 2453 (ค.ศ. 1910)
 

ภาพ : หนังสือ ETON PAINT BY E.D.BRINTON DESCRIBED BY CHRISTOPHER STONE LONDON 1909
ที่มาภาพ https://www.jonkers.co.uk/rare-book/10108/eton/e-d-brinton

           หนังสือส่วนพระองค์หลายเล่มพระองค์ทรงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ครั้งยังดำรงพระอิสริยยศ
เป็นพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา ดังปรากฏตราประทับในหนังสือบนป้ายบรรณสิทธิ (Bookplate) ซึ่งเป็นป้ายแสดงว่าเป็นหนังสือของพระองค์ พระนาม ประชาธิปก และพระปรมาภิไธยย่อ ป.ป.ร. หนังสือบางเล่มยังปรากฏตราประทับ วชิราวุธ
ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และตราพระราชลัญจกรของพระบาทสมเด็จ
พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ว่าหนังสือนี้ได้ทรงอ่านสืบทอดกันมาหลายรัชสมัยแล้ว

ที่มาของภาพ : 120 ปี ผ่านฟ้าประชาธิปก. 2556. น.218

          ทรงหนังสือเป็นพระราชกิจวัตร

          ในระหว่างที่ทรงครองราชย์อยู่นั้น จากพระราชกิจรายวันซึ่งมีการบันทึกไว้ ในวันที่ไม่มีพระราชกิจยามบ่าย จะทรงออกกำลังพระวรกายแล้วจึงทรงพักผ่อนและทรงหนังสือเล่ม ในวันธรรมดา เมื่อเสวยพระกระยาหารค่ำในเวลา 20.30 น. แล้ว ทรงหนังสือเล่ม ยกเว้นวันเสาร์จะเปลี่ยนเป็น
ทอดพระเนตรภาพยนตร์ และวันพฤหัสบดีซึ่งเป็นวันที่สดับพิณพาทย์หรือมโหรีหลังเสวยพระกระยาหารค่ำ นอกจากนี้ยังโปรดทรงหนังสือพิมพ์รายวันในตอนเช้าเป็นกิจวัตรประจำวัน ทำให้
ทรงทราบข่าวสารบ้านเมืองทั้งในประเทศไทยและของต่างประเทศ หนังสือที่ทรงอ่านมีเนื้อหาหลายด้าน เมื่อเสด็จประพาสบ้านเมืองต่างๆ นั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงเล่าเรื่องราวที่นอกเหนือจากที่มัคคุเทศก์เล่า พระราชทานแก่ผู้ที่ตามเสด็จ แสดงว่าโปรดทรงหนังสือ
ด้านภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์และเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับประเทศต่างๆ

         ทรงศึกษาค้นคว้า หาความรู้ในศาสตร์แขนงต่างๆ ในด้านภาษาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานคำแนะนำแก่พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต พระราชบุตรบุญธรรม ในการทรงฝึกภาษาอังกฤษขณะที่ทรงศึกษาอยู่ต่างประเทศ ซึ่งแสดงว่าทรงตระหนักถึงความสำคัญของการอ่านว่าเป็นการฝีกฝนตนเองที่ดีว่า “วิธีที่รู้ภาษาดีนั้น จะเรียนแต่เวลาเรียนจริงๆ เท่านั้นไม่พอ ต้องพยายามอ่านหนังสือ ถ้าคำใดไม่เข้าใจ ควรถามใครดูหรือดูใน dictionary ควรลองเทียบสำนวนที่แปลกๆ ดูกับภาษาไทย ลองแปลดูบ้าง ดังนี้ก็จะรู้ภาษาดีได้เร็ว”

 

นอกจากนี้หนังสือที่โปรดมากอีกกลุ่มหนึ่ง คือ นวนิยาย และวรรณคดี ทั้งของไทยและของเทศ
ต่อมา ได้มีพระราชดำริเกี่ยวกับการอ่านหนังสือวรรณคดีว่า “ควรจะหัดอ่านโคลงและกลอนด้วย เพราะถ้าไม่รู้จักโคลงและกลอนของไทยก็ออกจะโง่อยู่บ้าง เพราะของเราไม่เลวเลย”


 

 The Return of Tarzan โดย Butler & Tanner

          พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชอุปการะเลี้ยงดูเด็กไว้ใกล้ชิดพระองค์
เริ่มตั้งแต่ครั้งที่ยังทรงดำรงพระอิสสริยยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนศุโขทัยธรรมราชา เมื่อทรงอภิเษกสมรสกับหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี สวัสดิวัตน์ และเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว ก็ยังได้
ทรงรับเด็กเข้ามาเป็นรุ่นๆ เรื่อยมา ดังนั้นแม้ว่าจะไม่ทรงมีพระราชโอรสธิดาแต่ก็ทรงมีเด็กๆ ห้อมล้อมพระองค์เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวโดยตลอด ทรงเลี้ยงดูเด็กในพระราชอุปการะด้วยความเอาพระราชหฤทัยใส่ให้ได้เรียนรู้ไม่ใช่แต่วิชาในโรงเรียน หากแต่ทรงจัดการศึกษาให้
ตามแบบที่เรียกว่า “โรงเรียนในบ้าน” (home school)

         ครั้นเด็กๆ จะเข้านอน หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ เด็กในพระราชอุปการะองค์หนึ่งทรงเล่าว่า หากทรงว่าง พระองค์จะเสด็จมา “ทรงเล่านิทานแฝงคุณธรรม เช่น เรื่องทาร์ซาน ให้เด็กฟัง
เป็นตอนๆ ไป ซึ่งเด็กๆชอบฟังเป็นพิเศษ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ และการผจญภัยในป่า... ทรงทำเสียงประกอบตามบทบาทของตัวละครด้วย เป็นการเพิ่ม
ความสนุกสนานยิ่งขึ้น” 


ที่มาของภาพ : https://www.worthpoint.com/worthopedia/1922-alice-wonderland-alices-405644021

 Alice’s Adventure in Wonderland, 1922. โดย Lewis Carroll. London : Macmillan & Co. Ltd. (200 หน้า)
          อลิซผจญภัยในดินแดนมหัศจรรย์ วรรณกรรมคลาสสิกที่สุดอีกเรื่องหนึ่ง ว่าด้วยสาวน้อยนามอลิซที่ผลัดตกลงไปในโพรงกระต่าย จนไปโผล่ในดินแดนที่มีทั้งสัตว์ และสิ่งของต่างๆ พูดได้ ที่สำคัญ อลิซต้องเผชิญหน้ากับราชินีขี้โมโห ซึ่งสาวน้อยต้องใช้ไหวพริบปฏิภาณในการกลับบ้าน เนื้อเรื่องดำเนินไปด้วยความสนุกสนานและเหนือจริง แต่แฝงไปด้วยคติสอนใจ

 ส่วนหนึ่งของหนังสือทรงอ่าน

       หนังสือเกี่ยวกับรัฐศาสตร์ การเมือง

       - A history of political idea 1930 ว่าด้วยรัฐวิวัฒนาการ และการเมืองการปกครองยุโรป ตั้งแต่สมัยกรีก โรมัน ยุคกลาง  การปฏิวัติอำนาจ ตลอดจนสิทธิของกษัตริย์ แนวคิดทางการเมืองของนักปรัชญาต่างๆ 
       - History of the Russian Revolution. Leon Trotsky. London. Gollancz, Ltd. 1934. (1295 หน้า)
       - Government Owned Corporations โดย Harold Archer Vandorn. NewYork. Alfred. A. Knopf. 1926. (311 หน้า) อเมริกาคือประเทศใหม่ ที่มีระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยโดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุข ระบบการเมืองพัฒนาแบบก้าวกระโดดภายหลังสงครามกลางเมือง
ที่เกี่ยวข้องทั้งเรื่องเลิกทาส และการจัดการทรัพยากร หนังสือเล่มนี้ว่าด้วยการบริหารจัดการประเทศของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาในทุกๆ ด้าน

       หนังสือเกี่ยวกับการทหาร

        - The French Field Artillery 1912  เป็นคู่มือและรายละเอียดเกี่ยวกับปืนใหญ่ขนาด 75 มิลลิเมตร (The 75 mm. equipment) ซึ่งเป็นยุทโธปกรณ์ที่ใช้ในการเรียนการสอนของโรงเรียน
วูลลิช (The Royal Military Academy, Woolwich) สันนิษฐานว่าเป็นหนังสือเรียนของ
สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าประชาธิปกฯ เนื่องจากหน้าปกปรากฏ กระดาษที่มีพระนาม (H.R.H.PRINCE PRAJATIPOK)
       - The Interest of America in Sea Power, Present and Future โดย A.T. Maham. London : Sampsonlow Co. Ltd. ปี 1989 (314 หน้า) เนื้อหาว่าด้วยความเข้มแข็ง และการขยายอำนาจของกองทัพเรืออเมริกา ในบริเวณน่านน้ำต่างๆทั่วโลก ได้แก่ หมู่เกาะฮาวาย มหาสมุทรแอตแลนติก แปซิฟิก ตลอดจนทวีปอเมริกาใต้
       - Military Electric Lighting Vol.1 โดย MMahan, A. T. London :Harrison & son. (110 หน้า) ตำราวิศวกรรมไฟฟ้าทางการทหาร

 รายการอ้างอิง

พฤทธิสาณ ชุมพล, ม.ร.ว. หนังสือส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. เฟซบุ๊กมูลนิธิพระบรมราชนานุสรณ์ ร.7 เผยแพร่ 3 เมษายน 2018 เข้าถึงจากhttps://www.facebook.com/788629941182225/posts/1800009550044254/

พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. บทนิทรรศการหมุนเวียน “แรงบันดาลใจจากหนังสือทรงอ่าน” จัดโดยพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่  15 มีนาคม ถึง 30 มิถุนายน 2561 ณ พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
http://www.kingprajadhipokmuseum.com/th/exhibition_temporary/view/7

Rabbitweekend. เที่ยวพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. เพจเฟสบุ๊ก เสาร์-อาทิตย์ทำอะไรดี. เผยแพร่ 2 กันยายน 2018 จาก https://rabbitweekend.com/238/king-prajadhipok-museum/

สำนักบรรณสารสนเทศ, 2556. 120 ผ่านฟ้าประชาธิปก. นนทุบรี. มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, ครั้งแรกเปิดคลังหนังสือส่วนพระองค์. ไทยโพสต์. เผยแพร่ 21 มีนาคม 2561 เข้าถึงจาก https://www.thaipost.net/main/detail/5527

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้